.jpg.aspx?lang=th-TH&width=685&height=456)
คำว่า ‘ความรับผิดส่วนแรก’ ในการทำประกันภัยรถยนต์คืออะไร และมีกี่แบบ
ความรับผิดส่วนแรกนั้นมี 2 แบบด้วยกัน คือ
1. ความรับผิดส่วนแรกตามการเลือกรับ หรือความรับผิดส่วนแรกภาคสมัครใจ (Deductible)
2. ความรับผิดส่วนแรกตามเงื่อนไข หรือความรับผิดส่วนแรกภาคบังคับ (Excess)
ความรับผิดส่วนแรกตามการเลือกรับ หรือ ความรับผิดส่วนแรกภาคสมัครใจ (Deductible)
เป็นการยินยอมจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกตามความสมัครใจ สำหรับลูกค้าที่มีความมั่นใจว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้ขับรถที่มีความประมาทเมื่อพิจารณาจากประวัติการขับรถที่ผ่านมา หากลูกค้าไม่เคยมีอุบัติเหตุหรือประวัติการแจ้งเคลมเลยลูกค้าสามารถเลือกที่จะรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกไว้เองได้ การเลือกรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกไว้เองนี้ ถือเป็นความยินยอมที่จะรับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดจากความประมาทของผู้ใช้รถหรือผู้ถือกรมธรรม์ร่วมกับบริษัทประกันภัย ซึ่งจะทำให้ลูกค้าจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยได้ถูกลง
ความรับผิดส่วนแรกตามเงื่อนไข หรือความรับผิดส่วนแรกภาคบังคับ (Excess)
เป็นค่าเสียหายที่ผู้ใช้รถหรือผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่ประสบเหตุต้องรับผิดชอบร่วมกับบริษัทประกันภัยเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท ในกรณีที่การเคลมเข้าเงื่อนไขตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552
ตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เข้าเงื่อนไขซึ่งผู้ใช้รถหรือผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะต้องเสียความรับผิดส่วนแรก 1,000 บาท เช่น…
1. รถถูกขีดข่วน หรือหินตกกระเด็นใส่ โดยไม่สามารถหาคู่กรณีได้
2. ความเสียหายที่เกิดจากการขับที่ประมาท เช่น ขับรถไถลตกข้างทางแต่ยังไม่พลิกคว่ำ หรือขับรถตกหลุมแล้วตัวรถครูดกับพื้นถนน เป็นต้น
3. ระบุสาเหตุที่ทำให้รถเสียหายไม่ได้ หรือระบุวัน เวลา สถานที่เมื่อรถเกิดความเสียหายที่ชัดเจนไม่ได้
4. ชนกับพาหนะอื่นแต่แจ้งข้อมูลคู่กรณีไม่ได้
การคิดค่าเสียหายส่วนแรกตามเงื่อนไขนี้จะคิดตามเหตุการณ์ หากในเหตุการณ์หนึ่งมีความเสียหายต่อรถยนต์มากกว่า 1 ชิ้น จะมีการคิดค่าเสียหายส่วนแรกเป็นจำนวนเดียว คือ 1,000 บาทเท่านั้น